...ยินดีต้อนรับสู่เว็บบล็อกเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้...คุยกับผอ.ชินวงศ์...
สวัสดีครับห่างหายไปนาน เนื่องจากภาระหน้าที่ที่ต้องเปลี่ยนสายงานและย้ายที่ทำงานใหม่

ทำให้หาโอกาสที่จะนำเสนอเรื่องราวที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ยาก
ตอนนี้ภาระงานเริ่มเข้าที่เข้าทางจึงเริ่มมีโอกาสเขียนบทความ
นำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในขณะเดียวกันก็ใช้ชื่อบล็อกใหม่ด้วย
เนื่องจากหน้าบล็อกเดิมถูกไวรัส+แฮกเกอร์โจมตี จึงเปลี่ยนชื่อบล็อกใหม่
เป็น http://kruchinnawong.blogspot.com/
ซึ่งก็คงจะมีบทความ ใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ในโอกาสต่อไป .........ชินวงศ์ ดีนาน......

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บทคัดย่อประเมินโครงการปีการศึกษา 2550

ชื่อเรื่อง : การศึกษาประเมินผลการดำเนินงานโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านดู่ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1
ผู้ศึกษา : ชินวงศ์ ดีนาน
โรงเรียน : โรงเรียนบ้านดู่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์เขต 1
ปีที่พิมพ์ : 2551
บทคัดย่อ

โรงเรียนบ้านดู่ เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระหว่างปีงบประมาณ 2550 - 2551 โดยมุ่งหวังให้การพัฒนาระบบการดำเนินงานการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนดำเนินงานไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ทราบผลการดำเนินงาน เพื่อประกอบในการตัดสินใจกำหนดแผนงาน โครงการ กิจกรรม ตลอดทั้งนวัตกรรม การพัฒนาประสิทธิภาพการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพนักเรียน จำเป็นที่ต้องตรวจสอบผลการดำเนินโครงการ อย่างเป็นระบบตามรูปแบบการประเมินโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาประเมินผลการดำเนินงานโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านดู่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1 และเพื่อศึกษาข้อเสนอแนะการดำเนินงานโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของ โรงเรียนบ้านดู่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1
ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ศึกษาจากประชากรได้แก่ ครู จำนวน 25 คนและกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 242 คน และ นักเรียน จำนวน 242 คน ได้มาโดยการเทียบตารางของ R.V. Krejcie และ D.W. Morgan เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ เป็นแบบศึกษาประเมินผลการดำเนินงานโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านดู่ ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้นเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ตามวิธีของลิเคอร์ท (Likert) จำนวน 40 ข้อ โดยมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.83ได้แก่ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาปรากฏดังนี้
1. การศึกษาสภาพการดำเนินงานโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ปรากฏผลดังนี้ ผลการดำเนินงานโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระดับข้อเท็จจริง และสภาพการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนบ้านดู่ โดยรวมทั้ง 4 ด้าน หลังการดำเนินงานค่าเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับมาก โดยด้านสภาวะแวดล้อมการดำเนินงาน มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.09 และพบว่า มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ ด้านผลผลิตการดำเนินงานของโครงการ ค่าเฉลี่ย 4.01
2. การศึกษาข้อเสนอแนะของครู นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน ได้เสนอแนะต่อสภาพการดำเนินงานตามโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านดู่ โดยเรียงตามลำดับความถี่จากมากไปหาน้อยดังนี้ อยากให้ทางโรงเรียนจัดหาทุนการศึกษาให้กับนักเรียนเพิ่มมากขึ้น , เด็กนักเรียนกล้าแสดงออก ดีมาก , ครูดูแลนักเรียนได้ดีมาก อยากให้รักษามาตรฐานอย่างนี้ตลอดไป , ควรมีการอบรมปฏิบัติการการใช้และแปลผลแบบประเมินพฤติกรรมนักเรียน , อยากให้ช่วยด้านการศึกษาต่อให้นักเรียนสามารถเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 , อยากให้เปิดถึงชั้น ม.ปลาย , อยากให้ช่วยฝึกนักเรียนในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ , อยากให้คุณครูออกเยี่ยมบ้านเดือนละ 1 ครั้ง เพราะนักเรียนจะสนใจช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านเมื่อทราบว่าครูจะมาเยี่ยมบ้าน , โรงเรียนดูแลนักเรียนดีมาก อยากให้เปิดถึงชั้น ม.6 , ยังมีนักเรียนบางส่วนที่ยังมีความประพฤติไม่ดี ก้าวร้าว ควรแก้ไขให้หมดไป , อยากให้คุณครูช่วยดูแลเวลาพักกลางวันมีนักเรียนบางคนชอบออกนอกบริเวณโรงเรียน
จากการศึกษาในครั้งนี้ผู้ศึกษาได้องค์ความรู้ คือ การดำเนินงานในระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน หากโรงเรียนมีการดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นระบบ จะทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียน สามารถขจัดปัญหาอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ รวมทั้งเป็นข้อมูลในการวางแผนดำเนินงานโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในปีต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น