...ยินดีต้อนรับสู่เว็บบล็อกเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้...คุยกับผอ.ชินวงศ์...
สวัสดีครับห่างหายไปนาน เนื่องจากภาระหน้าที่ที่ต้องเปลี่ยนสายงานและย้ายที่ทำงานใหม่

ทำให้หาโอกาสที่จะนำเสนอเรื่องราวที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ยาก
ตอนนี้ภาระงานเริ่มเข้าที่เข้าทางจึงเริ่มมีโอกาสเขียนบทความ
นำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในขณะเดียวกันก็ใช้ชื่อบล็อกใหม่ด้วย
เนื่องจากหน้าบล็อกเดิมถูกไวรัส+แฮกเกอร์โจมตี จึงเปลี่ยนชื่อบล็อกใหม่
เป็น http://kruchinnawong.blogspot.com/
ซึ่งก็คงจะมีบทความ ใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ในโอกาสต่อไป .........ชินวงศ์ ดีนาน......

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การจัดรูปแบบและการพิมพ์ผลงานทางวิชาการ

การจัดรูปแบบและการพิมพ์ผลงานทางวิชาการ

มีคุณครูหลายท่านสอบถามเกี่ยวกับการจัดรูปแบบในการพิมพ์ผลงานทางวิชาการ
ว่าจะกำหนดขนาดกระดาษ ขอบกระดาษ กำหนดระยะแท็บอย่างไร จึงได้รวบรวม
และสรุปประเด็นสำคัญมาเพื่อประโยชน์แก่คุณครูดังนี้ครับ
การกำหนดขนาดกระดาษและย่อหน้าในการพิมพ์ผลงาน

การกำหนดขนาดกระดาษเป็นข้อกำหนดที่ใช้กับการพิมพ์ผลงานทั้งฉบับ
เป็นหลักเกณฑ์อันดับแรก ที่ต้องคำนึงถึง มีดังนี้
1. กำหนดขนาดกระดาษที่ใช้พิมพ์ มีขนาด “A4”
2. ก่อนลงมือพิมพ์ควรกำหนดแนวขอบซ้าย(กั้นหน้า) ขอบขวา(กั้นหลัง)
ขอบบน และขอบล่างของหน้ากระดาษให้ได้ขนาดที่กำหนด คือขอบซ้ายและขอบบน
ห่างจากริมกระดาษ 3.5เซ็นติเมตร ส่วนขอบขวาและขอบล่างให้ห่างจากริม
ของกระดาษ2.5เซ็นติเมตร แนวดังกล่าวนี้ เป็นแนวสมมติไม่ต้องตีเส้นล้อมกรอบ
ดังภาพประกอบ 1 และ 2

ภาพประกอบ 1 การตั้งค่าหน้ากระดาษของขอบกระดาษก่อนการพิมพ์

ภาพประกอบ 2 การตั้งค่าหน้ากระดาษของขนาดกระดาษก่อนการพิมพ์

3. ตัวอักษรที่ใช้ต้องเป็นตัวอักษรอังสนา(Angsana)ขนาด 16 จุด สำหรับหัวข้อ
จะเป็นตัวอักษรเข้มขนาด 18 จุดก็ได้ และต้องเป็นตัวอักษรแบบเดียวกันตลอดทั้งเล่ม
ส่วนตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวแรกของคำหรือข้อความจะขึ้นต้นด้วยอักษร
ตัวใหญ่หรืออักษรตัวเล็กก็ได้ แต่ต้องเป็นแบบเดียวกันตลอดทั้งเล่ม
4. ตัวเลขให้ใช้แบบเดียวกันตลอดทั้งฉบับ เช่น ใช้เลขอารบิกแบบเดียวโดยตลอด
หากจำเป็นต้องใช้เลขไทยก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม เช่น อาจจะใช้เลขอารบิกกับเนื้อเรื่อง
หรือการอ้างอิงที่เป็นภาษาอังกฤษ และใช้เลขไทยกับส่วนที่เป็นภาษาไทย
แต่ต้องระวังอย่าใช้เลขไทยกับข้อความภาษาอังกฤษ
5. เลขกำกับหน้าและการนับหน้า แยกเป็น 2 ตอน คือ
ตอนที่ 1 ในส่วนประกอบตอนต้น ให้ใช้อักษร ก ข ค ...
แทนเลขกำกับหน้าส่วน โดยเริ่มนับตั้งแต่หน้าปกในเป็นต้นไป
ตอนที่ 2 ตั้งแต่เนื้อเรื่องเป็นต้นไปจนถึงหน้าสุดท้ายของเล่มต้องใช้ตัวเลขกำกับหน้าตามลำดับ
การลงเลขหน้าให้วางเลขหน้าห่างจากริมกระดาษขอบขวา 2.5 เซนติเมตร
และ ริมกระดาษด้านบน 2.5 เซนติเมตร หน้าและหลังเลขกำกับหน้าไม่ต้องใส่เครื่องหมายใด ๆ
ตำแหน่งของเลขหน้าจะต้องอยู่ตรงกันทุกหน้า ยกเว้นหน้าแรกของแต่ละบท บรรณานุกรม ภาคผนวก
และประวัติย่อ ไม่ต้องใส่เลขกำกับหน้า
6. การพิมพ์ และการถ่ายเอกสารให้ใช้กระดาษเพียงหน้าเดียว เมื่อเข้าเล่มแล้วหน้าที่มีข้อความ
จะอยู่ทางขวามือของผู้อ่านตลอด
7. การย่อหน้า ย่อหน้าแรกให้เว้นระยะ 1.5 เซ็นติเมตร จากขอบซ้าย หากมีย่อหน้า
ที่ย่อยลงไปอีกให้เว้นระยะเพิ่มออกไปอีก 0.5 เซ็นติเมตร ไปเรื่อย ๆ และเพื่อความสะดวกและ
รวดเร็วในการพิมพ์ ให้ดำเนินการจัดระบบการพิมพ์โดยการตั้งย่อหน้าไว้ที่เครื่องพิมพ์ก่อน
โดยกำหนดที่เมนูรูปแบบ และเลือกแท็บ ดังภาพประกอบ 3

ภาพประกอบ 3 การตั้งค่าปรับย่อหน้าก่อนลงมือพิมพ์

ตัวอย่างการปรับย่อหน้า (/ แทนการเคาะ1 ครั้ง)

ข้อควรระวัง 1.ไม่ควรใช้เครื่องหมาย – หรือสัญลักษณ์อื่นใดนอกจากตัวเลข
2.กรณีที่มีเลขข้อ 2หลัก ควรกำหนดระยะเคาะหลังตัวเลขประมาณ 4เคาะให้เท่ากัน

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บทคัดย่อประเมินโครงการปีการศึกษา 2550

ชื่อเรื่อง : การศึกษาประเมินผลการดำเนินงานโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านดู่ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1
ผู้ศึกษา : ชินวงศ์ ดีนาน
โรงเรียน : โรงเรียนบ้านดู่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์เขต 1
ปีที่พิมพ์ : 2551
บทคัดย่อ

โรงเรียนบ้านดู่ เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระหว่างปีงบประมาณ 2550 - 2551 โดยมุ่งหวังให้การพัฒนาระบบการดำเนินงานการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนดำเนินงานไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ทราบผลการดำเนินงาน เพื่อประกอบในการตัดสินใจกำหนดแผนงาน โครงการ กิจกรรม ตลอดทั้งนวัตกรรม การพัฒนาประสิทธิภาพการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพนักเรียน จำเป็นที่ต้องตรวจสอบผลการดำเนินโครงการ อย่างเป็นระบบตามรูปแบบการประเมินโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาประเมินผลการดำเนินงานโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านดู่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1 และเพื่อศึกษาข้อเสนอแนะการดำเนินงานโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของ โรงเรียนบ้านดู่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1
ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ศึกษาจากประชากรได้แก่ ครู จำนวน 25 คนและกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 242 คน และ นักเรียน จำนวน 242 คน ได้มาโดยการเทียบตารางของ R.V. Krejcie และ D.W. Morgan เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ เป็นแบบศึกษาประเมินผลการดำเนินงานโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านดู่ ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้นเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ตามวิธีของลิเคอร์ท (Likert) จำนวน 40 ข้อ โดยมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.83ได้แก่ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาปรากฏดังนี้
1. การศึกษาสภาพการดำเนินงานโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ปรากฏผลดังนี้ ผลการดำเนินงานโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระดับข้อเท็จจริง และสภาพการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนบ้านดู่ โดยรวมทั้ง 4 ด้าน หลังการดำเนินงานค่าเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับมาก โดยด้านสภาวะแวดล้อมการดำเนินงาน มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.09 และพบว่า มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ ด้านผลผลิตการดำเนินงานของโครงการ ค่าเฉลี่ย 4.01
2. การศึกษาข้อเสนอแนะของครู นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน ได้เสนอแนะต่อสภาพการดำเนินงานตามโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านดู่ โดยเรียงตามลำดับความถี่จากมากไปหาน้อยดังนี้ อยากให้ทางโรงเรียนจัดหาทุนการศึกษาให้กับนักเรียนเพิ่มมากขึ้น , เด็กนักเรียนกล้าแสดงออก ดีมาก , ครูดูแลนักเรียนได้ดีมาก อยากให้รักษามาตรฐานอย่างนี้ตลอดไป , ควรมีการอบรมปฏิบัติการการใช้และแปลผลแบบประเมินพฤติกรรมนักเรียน , อยากให้ช่วยด้านการศึกษาต่อให้นักเรียนสามารถเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 , อยากให้เปิดถึงชั้น ม.ปลาย , อยากให้ช่วยฝึกนักเรียนในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ , อยากให้คุณครูออกเยี่ยมบ้านเดือนละ 1 ครั้ง เพราะนักเรียนจะสนใจช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านเมื่อทราบว่าครูจะมาเยี่ยมบ้าน , โรงเรียนดูแลนักเรียนดีมาก อยากให้เปิดถึงชั้น ม.6 , ยังมีนักเรียนบางส่วนที่ยังมีความประพฤติไม่ดี ก้าวร้าว ควรแก้ไขให้หมดไป , อยากให้คุณครูช่วยดูแลเวลาพักกลางวันมีนักเรียนบางคนชอบออกนอกบริเวณโรงเรียน
จากการศึกษาในครั้งนี้ผู้ศึกษาได้องค์ความรู้ คือ การดำเนินงานในระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน หากโรงเรียนมีการดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นระบบ จะทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียน สามารถขจัดปัญหาอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ รวมทั้งเป็นข้อมูลในการวางแผนดำเนินงานโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในปีต่อไป

บทคัดย่องานวิจัยปี 2549

ชินวงศ์ ดีนาน : การศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน
ที่มีต่อผลการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านดู่
อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1
โรงเรียน : บ้านดู่ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2550

บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน ที่มีต่อผลการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านดู่ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1 มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน ที่มีต่อผลการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านดู่ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น ที่มีต่อผลการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านดู่ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ และเพื่อศึกษาข้อเสนอแนะของผู้ปกครองนักเรียน ที่มีต่อผลการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านดู่ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ โดยศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อผลการจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนใน 4 ด้าน คือ ด้านวิชาการ ด้านกิจการนักเรียน ด้านอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม ด้านความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม แบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ตามวิธีของลิเคอร์ท (Likert) จำนวน 40 ข้อ ได้ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ 0.91 สถิตที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One – way ANOVA)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อผลการจัดการศึกษาโรงเรียนบ้านดู่ โดยรวมอยู่ในระดับมาก เรียงอันดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย คือ ด้านกิจการนักเรียน ด้านสัมพันธ์กับชุมชน ด้านอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม และพบว่ามีความพึงพอใจในระดับปานกลาง คือด้านวิชาการ
2. การเปรียบเทียบความพึงพอใจต่อผลการจัดการศึกษาโรงเรียนบ้านดู่ ของผู้ปกครองนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 ช่วงชั้นที่ 2 ช่วงชั้นที่ 3 มีความพึงพอใจต่อผลการจัดการศึกษาโรงเรียนบ้านดู่ในด้านกิจการนักเรียน ด้านอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม ด้านสัมพันธ์กับชุมชน ไม่แตกต่างกัน มีเพียงในด้านวิชาการเท่านั้นที่ผู้ปกครองมีความพึงพอใจแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถติที่ระดับ .05 และวิเคราะห์เปรียบเทียบรายคู่โดยวิธีการของ Scheffe พบว่า ผู้ปกครองนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้นที่ 2 มีความพึงพอใจต่อผลการจัดการศึกษาด้านวิชาการ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และผู้ปกครองนักเรียนช่วงชั้นที่ 2 และช่วงชั้นที่ 3 มีความพึงพอใจต่อผลการจัดการศึกษาด้านวิชาการ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. พบข้อเสนอแนะจากผู้ปกครองคือ ควรเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนและจัดหลักสูตรท้องถิ่น ควรส่งเสริมการเรียนรายวิชาภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ ควรจัดการให้มีสื่อการเรียนการสอนให้มากขึ้น การวัดผลประเมินผลควรประเมินผลตามสภาพจริงโรงเรียน ไม่ควรหยุดเรียนบ่อยๆ และครูควรเข้าสอนตรงเวลา ควรเข้มงวดและสอดส่องดูแลความประพฤติของนักเรียนให้มากขึ้น ครูควรใช้จิตวิทยากับเด็ก และควรเป็นแบบอย่างที่ดี และการลงโทษนักเรียน ไม่ควรใช้อารมณ์ ควรจัดหาน้ำดื่มสะอาดให้เพียงพอ ควรปรับปรุงด้านบริการให้ดียิ่งขึ้น ควรรักษาความสะอาดห้องน้ำห้องส้วมให้มากยิ่งขึ้น ควรสร้างห้องส้วมเพิ่ม ควรให้ชุมชนเข้ามามีส่วนและมีบทบาทในการบริหารโรงเรียนให้มากขึ้น และควรประสานกับชุมชนในการสอดส่องดูแลเรื่องยาเสพติด

เรื่องน่ารู้เกี่ยวคอมพิวเตอร์

หลายคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต แล้วพบปัญหาการอัพเดตตัว windows
ซึ่งส่วนใหญ่ถูกติดตั้งมาจากร้านโดยที่เราไม่อาจบอกได้ว่า ตัวระบบปฏิบัติการ(WINDOWS) ที่ร้านติดตั้งมาให้ถูกต้องหรือไม่ซึ่งโดยส่วนใหญ่ร้านจะติดตั้งระบบปฏิบัติการที่ไม่ถูกต้องมาให้จึงมักจะมีข้อความฟ้องว่า WINDOWS ที่ท่านไม่มีลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง วันนี้จึงมาแนะนำการแก้ไขดังนี้
start > run > regedit.exe > แล้วไปตามนี้ HKEY_LOCAL_MACHINE\SOFTWARE\Microsoft\Windows NT\CurrentVersion\Winlogon\Notify <----- พอถึงตรงนี้หา folder ที่ชื่อว่า WgaLogon ลบทิ้ง แล้ว restart คอม หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ต่อหลายท่านนะครับ ..

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเว็บ

.........จากประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวกับด้าน IT ในโรงเรียน
พบว่า หลายโรงเรียนมีปัญหาในเรื่องการทำเว็บไซต์ของโรงเรียน
โดยเฉพาะกรณีโรงเรียนขนาดเล็กที่มักเกิดปัญหาในกรณีที่ผู้ดูแลเว็บเดิมย้ายไป
ก็จะเกิดความไม่ต่อเนื่องในการดูแล การนำเสนอข่าวสาร การอัพเดตข่าวสาร
และอีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของค่าใช้จ่ายในการจดโดเมนและเช่าพื้นที่ของเว็บ (โฮสต์ติ้ง)
ขั้นต่ำค่าใช้จ่ายต่อปีประมาณ 800-1,200 บาท และหากเป็น ดอท.ac.th
ก็จะยิ่งมีค่าใช้จ่ายจดโดเมนและเช่าโฮสต์สูงขึ้นไปอีกถึงปีละประมาณ 1,500 บาท
ซึ่งย่อมกระทบกับงบประมาณแน่ๆ.........
ในวันนี้จึงเชิญชวนโรงเรียนขนาดเล็กใช้พื้นที่ฟรีเว็บของหน่วยงานต้นสังกัด
คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งอาจจะมีชื่อที่ยาว
คือ http://school.obec.go.th/XXX (ชื่อ user โรงเรียน)
โดยให้พื้นที่สำหรับโรงเรียนประมาณ 20 MB รวมทั้งสามารถขออีเมล์
ที่เป็นของทางราชการเป็นของโรงเรียนได้ด้วย โดยจะได้รับเป็น
ชื่อ XXXX@obec.go.th และเลือกใช้ตัวสร้างเว็บไซต์ที่มีขนาดเล็ก
ซึ่งปัจจุบันนิยมการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปมาช่วยสร้าง เป็นโปรแกรม cms
และหากสามารถเลือกโปรแกรมที่ไม่ต้องใช้ฐานข้อมูลได้จะเป็นการดี
ในวันนี้จึงขอแนะนำโปรแกรม guppy ซึ่งไม่ต้องใช้ฐานข้อมูล
เมื่อจำเป็นต้องย้ายโฮสต์ ก็ใช้วิธีการ copy ไฟล์ แล้วแก้เปลี่ยน Link code
ให้ตรงกับโฮสต์ใหม่เท่านั้น และที่สำคัญมีขนาดของไฟล์เพียงประมาณ 5 MB เท่านั้น
ตรงนี้โรงเรียนก็จะสามารถเพิ่ม/เปลี่ยนรูปภาพกิจกรรมของโรงเรียนได้ตามต้องการ
ลองดูตัวอย่างเว็บไซต์ของโรงเรียนที่ใช้โปรแกรมนี้สร้าง
เว็บไซต์โรงเรียนบ้านดู่ http://school.obec.go.th/banduo
เว็บไซต์โรงเรียนจารย์วิทยาคาร http://school.obec.go.th/jarnwitt
เว็บไซต์โรงเรียนบ้านทุ่งรูง http://www.tungroong.co.cc
โดยผู้พัฒนาโปรแกรมตัวนี้ www.somsak2004.com
หากท่านสนใจสามารถตั้งคำถามหรือเข้าสมุดเยี่ยมของโรงเรียนและฝากข้อความไว้ได้
หรืออีเมล์สอบถามรายละเอียดได้ที่ chinnawong.d@gmail.com ส่วนหากท่าน
ต้องการจะนำเสนอผลงานของครู นักเรียน ก็อาจจะขอพื้นที่ฟรีเว็บไว้ที่อื่นๆ
แล้วสร้าง Link จากหน้าเว็บหลัก ก็จะทำให้ไม่เป็นภาระหนักกับเว็บหลัก
ดังเช่นที่ผู้เขียนทำอยู่ก็คือ ขอพื้นที่เว็บบล็อกจาก google เพื่อนำเสนอบทความ
ผลงานวิชาการของผู้เขียน ซึ่งก็ทำให้มีความเป็นอิสระไม่ผูกติดกับเว็บโรงเรียน
หากเราย้ายก็ไม่กระทบเพราะเป็นเว็บของเราเอง และก็เป็นช่องทางสำหรับคุณครูเรา
ในการเผยแพร่ผลงานในกรณีที่ทำผลงานทางวิชาการอีกด้วยครับ...ชินวงศ์ ดีนาน..